พีรพล โสวัตร จากกลุ่มเยาวชนผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวและงานไม้ เจ้าของผลงาน โคมไฟกะลามะพร้าว เป็นงานสร้างสรรค์ใส่ไอเดีย ใช้ทุนต่ำ สร้างรายได้ อย่างงาม
กะลามะพร้าว ที่เคยไม่มีค่า หลัง ๆ มีการนำมาใช้ประโยชน์-สร้างมูลค่าได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งถ้านำมาสร้างสรรค์ใส่ไอเดีย บวกฝีมือ วัสดุที่เคยถูกทิ้งไม่มีราคาอย่างกะลามะพร้าวก็จะกลายเป็นชิ้นงานที่มีคุณ ค่า-มีราคา อย่างเช่น โคมไฟกะลามะพร้าว ที่ทีม ช่องทางทำกิน มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้
พีรพล โสวัตร จากกลุ่มเยาวชนผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวและงานไม้ เป็นเจ้าของผลงาน โคมไฟกะลามะพร้าว ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานกะลามะพร้าวมากว่า 20 ปี เจ้าตัวเล่าว่า นำกะลามะพร้าวมาทำเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ขายมานาน ทำมาตั้งแต่ยังไม่มีโครงการโอท็อป ซึ่งตอนแรกนั้นมีโอกาสได้ไปเรียนหลักสูตรการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ เป็นหลักสูตรของกระทรวงอุตสาหกรรม ระยะสั้น เรียนเพียง 7 วัน ซึ่งในหลักสูตรก็จะสอนวิธีการนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นชิ้นงานขาย
หลังจากจบหลักสูตรก็กลับมาลงมือทำที่บ้าน โดยช่วงแรกเริ่มจากทำเครื่องประดับ พวงกุญแจ ของเล็ก ๆ น้อย ๆ จากกะลามะพร้าว นำไปวางขายตามข้างทางที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งช่วงแรกยังไม่มีใครสนใจมากนัก จนหลังจากนั้น 2-3 ปี ก็เริ่มมีคนสนใจในงานกะลามะพร้าวมากขึ้น และเริ่มมีลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจ
ลูกค้าต่างชาตินอกจากจะสนใจซื้อ ยังนำแบบของการนำกะลาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ จากที่อื่นมาให้เราดูหลายแบบ แล้วถามว่าเราทำแบบนี้ได้ไหม เราก็บอกว่าทำได้ ซึ่งตอนนั้นเราก็เริ่มกลับมาปรับปรุงพัฒนางานการทำกะลาให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยทำแต่พวกของชิ้นเล็ก ก็เริ่มทำงานชิ้นใหญ่ขึ้น
รวมถึง โคมไฟ ด้วย
หลังจากพีรพลทำงาน โคมไฟกะลามะพร้าว ออกจำหน่าย ลูกค้าก็เริ่มสนใจสินค้ามากขึ้น จึงทำให้โคมไฟกลายเป็นงานที่ทำออกมาแล้วขายได้เรื่อย ๆ เป็นงานที่ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุด ซึ่งงานโคมไฟกะลามะพร้าวของกลุ่มนี้มีทั้งตั้งโต๊ะ และแขวน ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ก็จะมีรูปทรงต่าง ๆ ประมาณ 7-8 แบบ
พีรพลบอกต่อว่า สำหรับการทำงานกะลามะพร้าวนี้ไม่ยาก ใช้เวลาฝึกหัดทำจริง ๆ ประมาณ 10 วัน ก็สามารถทำเป็นแล้ว แต่คนที่จะมาทำงานตัวนี้ต้องเป็นคนที่มีใจรัก ต้องชอบจริง ๆ
วัสดุอุปกรณ์ในการทำโคมไฟกะลามะพร้าว
มีอยู่ไม่กี่อย่าง อาทิ สว่านไฟฟ้า, มอเตอร์ 2 หัว (สำหรับใช้เจียกะลา), สิ่ว, กระดาษทราย, สายไฟ, หลอดไฟ, เชือกผักตบชวา, กาวร้อน, แล็กเกอร์ เป็นต้น
สำหรับกะลามะพร้าวที่ใช้ทำโคมไฟ จะใช้จากมะพร้าวที่เป็นลูก ควรเลือกลูกมะพร้าวที่ปอกเปลือกเหลือแต่กะลาแล้วมีขนาดไซต์ที่ใกล้เคียงกัน นำมาทำเป็นโคมไฟ เพื่อความสวยงาม
วิธีการทำโคมไฟกะลามะพร้าว
เริ่มจากการนำมะพร้าวมาทำการปอกเปลือกนอกออก จากนั้นก็ทำการคัดขนาดให้ได้ใกล้เคียงกัน นำกะลามะพร้าวมาทำการเจาะรูด้านบนของลูกกะลา ให้มีขนาดกว้างพอประมาณ จากนั้นก็ทำการแคะเนื้อข้างในออกให้หมด โดยใช้ลิ่มทำการแคะ
หลังจากแคะเนื้อด้านในออกจนหมด ก็นำลูกกะลาไปทำการขัดทำความสะอาดผิวด้านในด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อย จากนั้นนำไปทำการเจาะรูเพิ่มตามต้องการ แล้วจึงขัดผิวด้านนอกด้วยกระดาษทรายให้เรียบ
การเจาะรูลูกกะลาสำหรับให้แสงไฟลอดออกมานั้น ใช้วิธีการกะระยะความห่าง และขนาดของรูตามต้องการ รูปแบบก็ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัว
ขั้นต่อไปทำการขึ้นสายไฟตามแบบที่กำหนด ซึ่งโคมไฟหนึ่งโคม เมื่อใช้กะลากี่ลูกประกอบกันเป็นโคม ก็ขึ้นสายที่มีหัวหลอดไฟไว้ตามจำนวนเท่านั้น โดยจะใช้กะลามาตัดทำเป็นฝาครอบ จากนั้นใช้เชือกผักตบชวาพันทับสายไฟเพื่อเป็นการเก็บซ้อนสายไฟ เพื่อความสวยงาม
การประกอบก็นำกะลามะพร้าวที่เตรียมไว้ใส่ครอบหลอดไฟ ใช้นอตยึดฝาครอบกับกะลาให้แน่นหนา นำไปพ่นแล็กเกอร์บาง ๆ ตั้งทิ้งไว้ให้แห้ง เท่านี้ก็ขายได้แล้ว (แต่ถ้าขายลูกค้าต่างชาติไม่ต้องพ่นแล็กเกอร์ทับเพราะลูกค้าต่างชาตินั้นจะ ชอบงานที่ดูเป็นธรรมชาติ)
งาน โคมไฟกะลามะพร้าว ของพีรพลและกลุ่มนั้น มีหลายรูปแบบ ซึ่งราคาขายก็ตั้งแต่ 100-500 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีสินค้าที่ทำจากกะลามะพร้าวประเภทอื่น ๆ จำหน่ายอีกหลากหลาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น